News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
APEC เสวนา "Sustainable MSMES, Women and Business"
กระทรวงการต่างประเทศ เสวนา APEC Media Focus Group "Sustainable MSMES, Women and Business" แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความตระหนักรู้ด้าน MSMEs และการส่งเสริมบทบาทสตรี ตามประสงค์ของเอเปค สอดคล้องการเดินหน้าขับเคลื่อนเชียงใหม่ ไปสู่ “นครแห่งชีวิต และความมั่งคั่ง”
วันนี้ (26 ส.ค. 65) ที่ห้องประชุมอาคาร 50 ปี คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดการเสวนาระดมสมอง APEC Media Focus Group ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ "Sustainable MSMES, Women and Business" เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความตระหนักรู้แก่ทุกภาคส่วนในประเด็นการผลักดัน MSMEs และการส่งเสริมบทบาทสตรีที่เอเปคให้ความสำคัญ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมโอกาสและศักยภาพของภาคธุรกิจไทยในภูมิภาคได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมี นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดการเสวนาฯ และมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมการเสวนา ในการนี้ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้ นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมรับฟังการเสวนา นอกจากนี้ ยังมีภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ภาคการศึกษา รวมถึงสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และสื่อส่วนกลางเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นด้วย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม
โดยนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะได้นำแนวคิดและข้อมูลที่ได้จากการเสวนาในครั้งนี้ ไปประมวลและวิเคราะห์ เพื่อผลักดันในกรอบของเอเปค ตาม BCG Model และสอดรับกระบวนการของ APEC ภายใต้แนวคิด Open Connect Balance คือ การเปิดรับด้านการค้า การเชื่อมโยงการเปิดประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย และการสร้างสมดุล ที่เน้นการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ด้าน นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า APEC มองว่าศักยภาพเชียงใหม่ มีจุดแข็งอยู่ที่ GDP ซึ่งเป็นลำดับ 1 ของภาคเหนือ และลำดับที่ 12 ของไทย มีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงภาคเหนือตอนบน สนามบินใหญ่เป็นลำดับ 3 ทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ และเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมสู่อารยธรรมภาคเหนือ โดย MSMEs ของเชียงใหม่ มีประมาณ 1 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นร้านขายของชำ อยู่ที่ร้อยละ 12.11 รองลงมาคือ การบริการด้านอาหาร สปา ธุรกิจนำเที่ยว และผู้ประกอบการด้านการผลิตชาและกาแฟ ตามลำดับ ฉะนั้น จังหวัดเชียงใหม่ จำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเต็มที่ โดยจะต้องดำเนินการฟื้นฟูอย่างครอบคลุม คำนึงถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ทุกสาขา ซึ่งการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ จะต้องยั่งยืน ครอบคลุม สมดุล และพร้อมต้อนรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ พบว่าแนวทางการพัฒนาเชียงใหม่ และการทำงานของเอเปคในขณะนี้ มีความสอดคล้องกันในหลายด้าน อาทิ ด้านการท่องเที่ยว ความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทรัพยากรธรรมชาติ และเมืองอัจฉริยะ การทำธุรกิจที่พึ่งพิงและดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลัก วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนเชียงใหม่ ไปสู่ “นครแห่งชีวิต และความมั่งคั่ง”
เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2565 13:25:36 น. (view: 12151)