News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

การประชุมวิชาการ “เหลียวหลัง-แลหน้า งานวิจัยมุ่งเป้า การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร จาก ล่างสู่บน ปีที่ 3 (ปีสุดท้าย)”

การประชุมวิชาการ “เหลียวหลัง-แลหน้า งานวิจัยมุ่งเป้า การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร จาก ล่างสู่บน ปีที่ 3 (ปีสุดท้าย)” 

ระหว่างวันที่ 4 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2567   ณ ห้องประชุมแกรนด์วิว 1 โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่

 



       ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ประธานแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม ด้านระบบบริการสุขภาพของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) “เหลียวหลัง-แลหน้า งานวิจัยมุ่งเป้า การพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร จาก ล่างสู่บน ปีที่ 3” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๔ - ๕ มีนาคม  พ.ศ.๒๕๖๗ ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว ได้เปิดเผยความเป็นมาของการจัดงานประชุมวิชาการฯในครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัย ภายใต้โครงการวิจัยแบบบูรณาการยุทธศาสตร์มุ่งเป้าด้านสังคม ด้านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยได้เริ่มดำเนิน “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร” ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันการศึกษาในพื้นที่นำร่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ.๒๕๖๗ ซึ่งเข้าสู่ช่วงปีสุดท้ายของชุดโครงการวิจัย ฯ ดังกล่าว โดยมีโครงการวิจัยย่อยที่มีความหลากหลายเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉินในด้านต่าง ๆ กว่า ๙๐ โครงการ ดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดข้างเคียง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น และภาคใต้ในจังหวัดสงขลา ปัตตานี และจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล โดยมีวัตุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดงานวิจัยที่มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาระบบบริการด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินทางแพทย์และสาธารณสุข

ที่ถือเป็นความท้าทายในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อการเจ็บป่วยรุนแรง ความพิการ และการสูญเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์จากระบบบริการที่ยังขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การขาดแคลนทักษะของบุคลากรสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้อง และยังมีปัญหาของความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมของผู้รับบริการโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ที่ห่างไกลจากตัวเมืองที่มีศักยภาพของโรงพยาบาลที่สูงกว่าพื้นที่ชนบท

    โครงการวิจัย ฯ เน้นรูปแบบการวิจัยพัฒนาเพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ ๆ ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ผ่านมาในหลากหลายประเด็น โดย ยุทธศาสตร์ที่ ๑ เน้นการสร้างความตระหนักรู้ของประชาชน การมีทักษะในการแจ้งเหตุฉุกเฉินโดยการโทรเรียก 1669 การช่วยชีวิตผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นโดยการทำ CPR และการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ (AED) ในครู นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา และประชาชนในจังหวัดนำร่อง รวมกันมากกว่า ๑๐,๐๐๐ คน การพัฒนาระบบการดูแลภาวะฉุกเฉินทางทะเลในพื้นที่ที่เป็นเกาะและเป็นแหล่งท่องเที่ยวในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ เช่น จังหวัดภูเก็ต ระนอง พังงา สตูล สุราษฎร์ธานี ตรัง เป็นต้น ยุทธศาสตร์ที่ ๒ เป็นการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศของผู้ป่วยที่มารับบริการในแต่ละโรงพยาบาล โดยมีการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยระหว่างสถานบริการแต่ละระดับในระดับจังหวัดรวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และใช้ประโยชน์การเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลในการส่งต่อผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถทำระบบนัดหมายล่วงหน้าสำหรับการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลเล็กในเครือข่ายกับโรงพยาบาลใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยหรือญาติต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่เพื่อทำการขอวันนัดด้วยตนเอง ทำให้เกิดการพัฒนาการสื่อสารที่รวดเร็วไร้รอยต่อและมีการทำงานด้านการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบผ่าน platform กลาง ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดการติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยตั้งแต่ที่โรงพยาบาลจนส่งผู้ป่วยกลับสู่บ้านและชุมชนได้ โดยปัจจุบันได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพที่ครบวงจรทั้งจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง และนำต้นแบบที่พัฒนาไปขยายผลใช้งานจริงในเครือข่ายโรงพยาบาลของจังหวัดปัตตานี และยังมีการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อและการส่งต่อข้อมูลของผู้ป่วยฉุกเฉินระหว่างเครือข่ายโรงพยาบาลภายในจังหวัดขอนแก่นแยกไปต่างหากอีกด้วย  ยุทธศาสตร์ที่ ๓ เป็นการพัฒนาระบบการดูแลและส่งต่อการรักษาผู้ป่วยระยะกลาง จากโรคหลอดเลือดสมองหรือ Stroke อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บกระดูกไขสันหลัง และการบาดเจ็บทางสมอง ในระยะเจ็บป่วยฉุกเฉิน การส่งต่อระหว่างเครือข่ายโรงพยาบาล การพัฒนาทักษะของสหวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยระยะกลางอย่างต่อเนื่องหลังพ้นระยะฉุกเฉินวิกฤตทั้งในระหว่างเครือข่ายสถานบริการในระดับต่าง ๆ ในจังหวัด ลงไปจนถึงที่บ้านของผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย ญาติ และองค์กรชุมชน โดยภาพรวมจากการติดตามผลของโครงการวิจัยพัฒนาระบบบริการการดูแลภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เชื่อมต่อแบบครบวงจรที่ดำเนินต่อเนื่องมากกว่า ๔ ปี ได้ก่อให้เกิดประโยชน์สำคัญในการช่วยลดช่องว่างของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ยังเป็นปัญหาท้าทายอยู่ในปัจจุบัน ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพสำหรับประชาชนทั้งในเมืองและชนบท และสุดท้ายที่สำคัญอย่างมากคือ สามารถช่วยลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีภาวะเจ็บป่วยพิการอย่างถาวรและลดโอกาสในการสูญเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนวัยอันควร และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและประชาชนในพื้นที่จังหวัดนำร่องภายใต้โครงการวิจัย ฯ 



ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ในฐานะประธานแผนการวิจัยมุ่งเป้าในครั้งนี้ กล่าวว่า  “โครงการวิจัยพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยมุ่งเป้าด้านสังคม ของสำนักงาน การวิจัยแห่งชาติ (วช) แผนงานต่อเนื่องที่ดำเนินมากกว่า ๔ ปี ในครั้งนี้ เกิดจากความต้องการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของหน่วยงานบริการในระดับต่างๆ ในพื้นที่ที่ต้องมีการเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาองค์ความรู้และทักษะเพื่มเติมของบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ต้นเหตุของปัญหา ร่วมคิดค้น วางแผน และลงมือพัฒนาแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบโดยทีมบุคลากรในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาระบบบริการ ซึ่งสามารถนำไปเรียนรู้ต่อยอดและขยายผลต่อได้โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบบริการในพื้นที่ทั่วประเทศในอนาคต จึงถือเป็นงานวิจัยพัฒนาจากล่างสู่บน ที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่สนับสนุนทุนวิจัยในครั้งนี้ ท่านผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แกนนำในระดับจังหวัดและทีมงานผู้ร่วมทีมวิจัยแต่ละโครงการทุกท่านที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งนับรวมกันมากกว่า ๑,๐๐๐ คนจากโครงการวิจัยมากกว่า ๙๐ เรื่อง ที่ได้มาร่วมกันเรียนรู้ ลงมือทำวิจัยพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ในระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉินที่ใช้ได้จริง มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วยในภาวะวิกฤตรวมไปถึงการดูแลฟิ้นฟูผู้ป่วยต่อเนื่องจนถึงบ้านและชุมชนในที่สุด”



..............................................................................





 

เขียนเมื่อ 04 มีนาคม 2567 15:20:55 น. (view: 12150)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง