News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เดินหน้าภารกิจ Sky Doctor ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล มุ่งลดระยะเวลารับส่งผู้ป่วยภาวะวิกฤต ถึงมือแพทย์ได้อย่างทันท่วงที เผยผลการดำเนินการที่ผ่านมา สามารถช่วยผู้ป่วยฯ ในพื้นที่รับผิดชอบทั่วภาคเหนือแล้วกว่า 500 ราย

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เดินหน้าภารกิจ Sky Doctor ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล มุ่งลดระยะเวลารับส่งผู้ป่วยภาวะวิกฤต ถึงมือแพทย์ได้อย่างทันท่วงที เผยผลการดำเนินการที่ผ่านมา สามารถช่วยผู้ป่วยฯ ในพื้นที่รับผิดชอบทั่วภาคเหนือแล้วกว่า 500 ราย เป็นสถิติสูงที่สุดในประเทศ





รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า “พื้นที่ทางภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นภูเขาสูง ทำให้การเดินทางระหว่างอำเภอหรือระหว่างจังหวัดค่อนข้างยากลำบาก ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากกว่าเส้นทางปกติ เช่นเดียวกับกรณีการส่งต่อผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินจากโรงพยาบาลที่มีศักยภาพไม่มากนักในพื้นที่ห่างไกล มาสู่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าในตัวเมืองมักจะประสบปัญหา เพราะปกติการใช้รถยนต์รับส่งผู้ป่วยจะใช้เวลานานมาก บางพื้นที่ เช่น อำเภออมก๋อย หากจะเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มีโอกาสเกิดภาวะวิกฤต เกิดความพิการ หรือบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนำอากาศยานมาใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกลดังกล่าว ภายใต้โครงการ “Sky Doctor” ซึ่งจากการใช้อากาศยานรับส่งผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล สามารถช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้มาก จากปกติ 5 ชั่วโมง จะเหลือเพียงประมาณ 45 นาที - 1 ชั่วโมง เท่านั้น



โครงการ Sky Doctor ในระยะแรกเกิดขึ้นจากการจุดประกายของคนกลุ่มเล็ก ๆ ในพื้นที่ทุรกันดารที่มีความยากลำบากในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อประสานงานส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินมารักษายังโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลใหญ่ในเขตเมืองเชียงใหม่ ต่อมามีการขยายความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยความร่วมมือของทีมงานโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รวมไปถึงหน่วยงานที่เป็นเจ้าของอากาศยาน และความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ ร่วมผนึกกำลังกันเพื่อตอบสนองความเร่งรีบในการดูแลและส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงได้ทันเวลา เพิ่มโอกาสในการรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้น ทำให้ Sky Doctor สามารถดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบันนี้ จึงขอขอบคุณหน่วยงานราชการที่ร่วมเป็นส่วนสำคัญในการลำเลียงทางอากาศ ได้แก่

1. หน่วยปฏิบัติการ ฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศโรงพยาบาลนครพิงค์

2. หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศโรงพยาบาลศรีสังวาลย์

3. หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศโรงพยาบาลแม่สะเรียง

4. หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

5. โรงพยาบาลต้นทางและโรงพยาบาลปลายทางที่เกี่ยวข้อง

6. ศูนย์อำนวยการทางการแพทย์ขั้นสูงจังหวัดเชียงใหม่(ศูนย์เวียงพิงค์)

7. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกองกำลังผาเมือง

8. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

9. กองบิน41

10.กองกำลังผาเมือง

11.หน่วยบินตำรวจ เชียงใหม่

12.หน่วยเฉพาะกิจสิงหนาท (แม่ฮ่องสอน)

13.หน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก (เชียงราย)  ที่ทำให้การบินนี้ เกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นจนถึงทุกวันนี้”



ด้าน อ.นพ.บุญฤทธิ์ คำทิพย์ อาจารย์พิเศษภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า “ภารกิจการทำงานของ Sky Doctor แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล จากโรงพยาบาลที่มีศักยภาพดูแลรักษาเบื้องต้น ส่งไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า อาทิ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลประสาท 2.การใช้อากาศยาน (เฮลิคอปเตอร์) ไปรับผู้ป่วยถึงในพื้นที่ห่างไกลโดยตรง ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์จะได้รับความช่วยเหลือ ได้แก่ ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องการได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนทันท่วงที หรือมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต เป็นต้น



Sky Doctor ประกอบไปด้วยส่วนหลักๆ คือ ทีมแพทย์ พยาบาล และนักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ ซึ่งทุกฝ่ายล้วนผ่านมาตรฐานการอบรมการดูแลผู้ป่วยทางอากาศ และมีการฝึกซ้อมการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับอากาศยานมาเป็นอย่างดี สำหรับกระบวนการทำงานเมื่อได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือผู้ป่วยทางอากาศยาน เริ่มจากเมื่อมีกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน 1669 จะประสานมายังศูนย์ประสานงานของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จากนั้นศูนย์ฯ จะแจ้งไปยังทีมแพทย์อำนวยการบิน ซึ่งอยู่ประจำการทุกวัน โดยทีมแพทย์ฯ จะเป็นผู้ประเมินอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละรายว่ามีความจำเป็นต้องส่งต่อผ่าน Sky Doctor หรือไม่ 



หากแพทย์ประเมินแล้วว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ทีม Sky Doctor จะออกปฏิบัติภารกิจทันที โดยมีทีมแพทย์ พยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมในการดูแลผู้ป่วยบนอากาศยาน บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง และนักบินจะทำการบินไปรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลต้นทาง เพื่อส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ หรือโรงพยาบาลในพื้นที่ ขึ้นอยู่กับว่าโรงพยาบาลใดมีศักยภาพในการรับผู้ป่วยในช่วงดังกล่าว



ทั้งนี้ ในเขตสุขภาพที่ 1 ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง เป็นพื้นที่ที่มีการใช้บริการ Sky Doctor สูงที่สุดในประเทศ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ รองลงมาเป็นผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ โรคหลอดเลือดสมอง และเด็กแรกเกิดที่มีความจำเป็นต้องส่งตัวมารักษาที่ ICU โดยการดำเนินโครงการฯ ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยานทั่วภาคเหนือตลอด 13 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยไปแล้วกว่า 500 ราย นับเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประเทศไทย“



ติดตามผ่าน Facebook : https://cmu.to/DHg5D



เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน

ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร  

งานประชาสัมพันธ์

คณะแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2567 15:44:53 น. (view: 7277)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง