News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
โรงพยาบาลสวนปรุง สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพที่ 1 ห่วงใยผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางจิตเวช เน้นย้ำผู้ป่วยไม่ขาดยา/สังเกตอาการทางจิตกำเริบ
26 ส.ค.67 นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง พญ.หทัยชนนี บุญเจริญ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และว่าที่ร้อยโทโฆษิต กัลยา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในเขตสุขภาพที่ 1 อย่างต่อเนื่อง ห่วงให้ความสำคัญกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางจิตเวช เน้นย้ำให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดยา นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่ จ.เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน กลุ่มที่ยังต้องให้ความสำคัญอีกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรคเรื้อรังทางจิตเวช ที่ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีอาการกำเริบจนเสี่ยงต่อเกิดความรุนแรง จากข้อมูลระหว่างวันที่ 19-24 สิงหาคม พบมีผู้ป่วยที่ไม่มารับยาตามนัด จำนวน 6 ราย ทั้งนี้ได้ติดตามผู้ป่วยแล้ว พบยังมียาเหลือและขอรับยาต่อทางไปรษณีย์ ส่วนที่ยังติดตามไม่ได้ ส่งข้อมูลให้พื้นที่ในการติดตาม โดยมอบหมายให้ทีมบุคลากรทางการแพทย์ เตรียมความพร้อมในการให้บริการผู้ป่วยผ่านระบบ Telepsychiatry พร้อมสำรองเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็นเพื่อเตรียมจัดส่งให้ผู้ป่วยที่อาจขาดยา โดยทีมMCATT ได้มีการวางแผนในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยทางจิตเวชที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ เน้นติดตามเยี่ยมบ้านไม่ให้ขาดยา และสื่อสารให้ความรู้กับผู้ดูแลในการสังเกตอาการทางจิตกำเริบ พญ.หทัยชนนี บุญเจริญ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ได้แก่ กลุ่มเด็กและกลุ่มเด็กพิเศษที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ขาดยา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการกำเริบทั้งด้านพฤติกรรม อารมณ์ พร้อมให้ความห่วงใยในเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบสูง หากพ่อแม่ผู้ปกครองเกิดภาวะเครียด อาจส่งผลกับการดูแลในกลุ่มเด็กพิเศษนี้ด้วย จึงต้องมีการเตรียมการวางแผนในการวางระบบในการดูแลผู้ป่วยเด็กพิเศษร่วมกับทีมสุขภาพจิตเด็กและทีมสหวิชาชีพต่อไป ว่าที่ร้อยโทโฆษิต กัลยา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 กล่าวถึง อย่างไรก็ตามในการดูแลผู้ป่วยทางจิตเวชควรให้ความสำคัญกับผู้ดูแลผู้ป่วย (Care giver) การลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องช่วงสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมา พบว่า บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก การดำรงชีวิตมีความยากลำบาก เกิดผลกระทบทางจิตใจกับครอบครัวและผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด อาจเกิดความท้อแท้ สิ้นหวัง ส่งผลให้การดูแลตนเองลดลง อาจทำให้ผู้ดูแลหมดกำลังใจในการดูแลผู้ป่วย ทีม MCATT จึงต้องมีการวางแผนในการดูแลช่วยเหลือจิตใจในกลุ่มผู้ดูแลเพื่อสามารถดำรงชีวิตและมีพลังใจต่อไป นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้อยากฝากสื่อสาร 5 วิธี เตรียมความพร้อมเพื่อผู้ป่วยจิตเวชสู้ภัยน้ำท่วม (1) จัดเตรียมยาจิตเวชให้พร้อม ไม่ให้ขาดยา (2) ติดตามข้อมูลข่าวสารน้ำท่วมอย่างพอเหมาะจากส่วนราชการในพื้นที่ (3) เฝ้าระวังผู้ป่วยอาการกำเริบ (4) พูดคุยให้ผู้ป่วยจิตเวชผ่อนคลาย พูดด้วยน้ำเสียงกลาง ไม่ชักชวนให้ผู้ป่วยหงุดหงิดโมโห (5) สังเกตอาการทางจิตกำเริบ ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว หวาดระแวง หากพบอาการดังกล่าวประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข/อสม./บุคลากรหน่วยงานภาครัฐ กูชีพกู้ภัย หรือโทร.สายด่วน 1669 อย่างทันท่วงที ข้อมูลโดย ทีม EOC (Emergency Operation Center) เขตสุขภาพที่ 1
เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2567 08:51:47 น. (view: 12150)