News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 เผยผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ปี 67
สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 เผยผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ปี 67
.
วันนี้ (16 ก.ย. 67) ที่กรีนเลค รีสอร์ท เชียงใหม่ นายวิวัฒน์ เจริญฉ่ำ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 5 พร้อมด้วย นายนิรันดร ศรีภักดี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ปช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวิศ จิตรวิจารณ์ ประธานชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงถึงผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ในพื้นที่ภาค 5 ประจำปี 2567
.
โดยผลการประเมิน ITA พื้นที่ภาค 5 ประกอบด้วย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน มีหน่วยงานภาครัฐในระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ารับการประเมินจำนวน 830 หน่วยงาน มีบุคลากรภาครัฐร่วมตอบแบบประเมิน 35,183 คน และมีผู้รับบริการหรือผู้ที่เคยติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐร่วมตอบแบบประเมิน จำนวน 63,309 คน โดยผลการประเมินมีคะแนนเฉลี่ย 94.40 % สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 4.72 คะแนน มีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์จำนวน 806 แห่ง คิดเป็น 73.38 % และมีหน่วยงานที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์อีก จำนวน 24 แห่ง คิดเป็น 2.89 % ซึ่งยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ตัวชี้วัดแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ ที่กำหนดให้หน่วยงานมีผลคะแนนผ่านการประเมินทั้งหมด
.
สำหรับผลการประเมิน ITA ที่แบ่งตามประเภทของหน่วยงานในภาค 5 ทั้ง 6 ประเภทนั้น มีประเภทจังหวัดหน่วยงานที่มีการประเมินสูงสุดคือจังหวัดแพร่ ประเภทองค์การบริหารส่วนจังหวัด หน่วยงานที่มีคะแนนสูงสุดคือองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ประเภทเทศบาลนครหน่วยงานที่มีผลการประเมินสูงสุดคือเทศบาลนครเชียงใหม่ ประเภทเทศบาลเมืองหน่วยงานที่มี คะแนนสูงสุดคือเทศบาลเมืองพิชัย จังหวัดลำปาง ประเภทเทศบาลตำบลหน่วยงานที่มีคะแนนประเมินสูงสุด คือเทศบาลตำบลทุ่งกวาวจังหวัดแพร่และองค์การบริหารส่วนตำบล หน่วยงานที่มีผลการประเมินสูงสุดคือ อบต.บ่อแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ และ อบต.สูงเม่น จังหวัดแพร่
.
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการ STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตเพื่อผลักดันการป้องกันการทุจริตเชิงรุกด้วยการสร้างเสริมให้บุคคลและชุมชนมีจิตพอเพียง ต้านทุจริตตามโมเดล STRONG จนกระทั่งพัฒนาเป็นวัฒนธรรมต้านทุจริต ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มภาคประชาสังคมและชุมชนในระดับพื้นที่ โดยได้จัดกิจกรรมสำคัญ คือการพัฒนาเยาวชน Anti-corruption Young Leaders จัดกิจกรรมขยายผลเวทีชุมชนลงในระดับพื้นที่ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมต้านทุจริตในเรื่องการจับตามอง และแจ้งเบาะแส (Watch and Voice) ตามสถานการณ์ ความเหมาะสมของพื้นที่รวมทั้งความสนใจของสมาชิกชมรม ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2501 ถึงปัจจุบัน
.
/////////////
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
16 กันยายน 2567
เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2567 16:32:04 น. (view: 12148)