News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

จังหวัดเชียงใหม่ ซักซ้อมแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ปี 2567

จังหวัดเชียงใหม่ ซักซ้อมแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ปี 2567

.

วันนี้ (10 ต.ค. 67) นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมซักซ้อมแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ปี 2567 โดยมีหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่   และผู้แทนอำเภอทั้ง 25 อำเภอ เทศบาลนคร เทศบาลเมืองเข้าร่วมประชุมผ่านออนไลน์

.

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยตามระเบียบราชการ  แบ่งเป็น 4 ช่องทาง ที่ประชาชนสามารถรับเงินเยียวยาตามเกณฑ์ได้ คือ



 1.หลักเกณฑ์ ตามมติ ครม. จ่ายเงินช่วยเหลือแบบเหมาจ่ายอัตราเดียวครัวเรือนละ 9,000 บาท 



2.หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ 2566 



 3.หลักเกณฑ์และแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี และ 



4.หลักเกณฑ์ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางกรณีฉุกเฉิน ของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่

.

สำหรับช่องทางที่ 1.มติ ครม. คือ จ่ายเงินช่วยเหลือแบบเหมาจ่ายมีอัตราเดียวจะได้รับครัวเรือนละ 9,000 บาท โดยประชาชนต้องมีที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือ ประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังติดต่อกัน เกินกว่า 7 วัน ให้ได้รับเงินช่วยเหลืออัตราเดียวครัวเรือน ละ 9,000 บาท โดยเงินเข้าบัญชีผู้ประสบอุทกภัยโดยตรง ทั้งนี้ หากผู้ประสบอุทกภัยได้รับเงินช่วยเหลือตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ที่ผ่านมาแล้ว ครัวเรือนที่ได้รับ 5,000 บาท หรือ 7,000 บาท จะทำการโอนเงินเข้าบัญชีประชาชน ให้ครบ 9,000 บาท ทั้งนี้ ประชาชนสามารถข้อรับความช่วยเหลือโดยกรอกข้อมูลยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือ ได้ที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ของตนเอง หรือลงทะเบียนทางออนไลน์ https://flood67.disaster.go.th (หากลงทะเบียนออนไลน์ แล้วต้องเข้าแจ้งเรื่องต่อที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ของตนเอง เพื่อยืนยันสิทธิอีกครั้งหนึ่ง)

.

สำหรับช่องทางที่ 2. เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ 2563 ตามระเบียบกระทรวงการคลัง มี 3 หัวข้อหลักคือ 

ข้อ 1. ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเบื้องต้นครอบครัวละไม่เกิน 3,800 บาท(กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง) ,เครื่องนุ่งห่มไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้รายละไม่เกิน 1,100 บาท ,เครื่องมือประกอบอาชีพหรือเงินทุนครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท(กรณีผู้ประสบภัยมีอาชีพหลักหาเลี้ยงครอบครัว) ,เครื่องครัวและอุปกรณ์ประกอบอาหารสูญหายหรือไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ครอบครัวละไม่เกิน 3,500 บาท ,เครื่องนอนสูญหายหรือไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้คนละไม่เกิน 1,000 บาท 

ข้อ 2 ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต กรณีบาดเจ็บสาหัส(รักษาตัวในโรงพยาบาลติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไป)ช่วยเหลือเบื้องต้นรายละ 4,000 บาท ,บาดเจ็บถึงขั้นพิการ(ไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้)ช่วยเหลือเบื้องต้น 13,300 บาท ,กรณีสาธารณภัยขนาดใหญ่หรือจ่ายเงินหรือสิ่งของปลอบขวัญรุนแรง ต้องรักษาตัวในสถานพยาบาล รายละไม่เกิน 2,300 บาท ,ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท(หากเป็น หัวหน้าครอบครัวหรือผู้หารายได้เลี้ยงดูครอบครัว สงเคราะห์เพิ่มอีก ครอบครัวละ 29,700 บาท) 

ข้อ 3 ด้านค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้าง ต้องเป็นที่อยู่อาศัยประจำ ได้รับความเสียหายหลังละไม่เกิน 49,500 บาท(ผู้ประสบภัยต้องเป็นเจ้าของ) ,ค่าซ่อมแซมหรือสร้างยุ้งข้าวโรงเรือนสำหรับเก็บพืชผลและคอกสัตว์ได้รับความเสียหาย จะได้รับครอบครัวละไม่เกิน 5,700 บาท นอกจากนี้ ยังมีค่าล้าง ทำความสะอาดดินโคลน รวมถึงซากวัสดุต่างๆ บริเวณที่อยู่อาศัยผู้ประสบภัยพิบัติที่เป็นเจ้าของ จะได้หลังละ 10,000 บาท ตามความจำเป็นและเหมาะสม ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ขั้นตอน และระยะเวลาการดำเนินงาน รวมไปถึงการกรอกข้อมูลยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ของตนเอง 

.

สำหรับช่องทางที่ 3. กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี มีดังนี้ 

1.ค่าจัดการงานศพ รายละ 50,000 บาท 

2.เงินทุนเลี้ยงชีพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ครอบครัวละ 30,000 บาท ,เงินทุนเลี้ยงชีพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ที่มีบุตรอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ อีกครอบครัวละ 50,000 บาท  

3.ค่าวัสดุในการก่อสร้างซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย ซึ่งเสียหายทั้งหลัง (เสียหายเกิน 70%) จะได้รับเงินเยียวยา ไม่เกินหลังละ 220,000 - 230,000 บาท ,เสียหายมาก (เสียหาย 30 - 70%) จะได้รับเงินเยียวยา หลังละไม่เกิน 70,000 บาท ,เสียหายน้อย (เสียหายน้อยกว่า 30%) จะได้รับเงินเยียวยา ไม่เกินหลังละ 15,000 บาท ( การประเมินดังกล่าวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ของตนเองจะเป็นผู้ประเมินตามความเสียหายจริง) 

4.ค่าเครื่องอุปโภค และเครื่องใช้อื่นๆ ที่จำเป็นแก่ครอบครัว แก่ผู้ประสบภัย พิบัติเฉพาะบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลัง และเสียหายมาก ครัวเรือนละ 5,000 บาท ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ขั้นตอน และระยะเวลาการดำเนินงาน รวมไปถึงการกรอกข้อมูลยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ของตนเอง 

.

สำหรับช่องทางที่ 4.หลักเกณฑ์ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางกรณีฉุกเฉิน ของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ มี 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ 

1.เงินสงเคราะห์ทางสังคม กรณีฉุกเฉิน รายละ 3,000 บาทต่อ 1 ครอบครัว ทั้งนี้ประชาชนสามารถยื่นเรื่องได้ผ่านองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ของตนเอง พร้อมเอกสารสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาธนาคาร 

2. เงินเยียวยาปรับสภาพที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ วงเงินไม่เกิน 40,000 บาท (ไม่ได้เยียวยาเป็นจำนวนเงิน แต่จะจ่ายตามราคาซ่อมบ้านจริง) 

3. กรณีเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุหรือคนพิการ เงินเยียวยา 3,000 บาท(ผู้เสียชีวิตต้องมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น) ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ขั้นตอน และระยะเวลาการดำเนินงาน รวมไปถึงการกรอกข้อมูลยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ของตนเอง หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่



โอกาสนี้ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เน้นย้ำหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งสำรวจความเสียหายและส่งเรื่องมายังคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือระดับจังหวัดพิจารณาเห็นชอบ พร้อมศึกษาระเบียบหลักเกณฑ์การฟื้นฟูเยียวยาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้ประชาชนได้รับการเยียวยาตามหลักเกณฑ์โดยเร็ว และการทำงานต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน 

.

**********************

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่...ภาพ/ข่าว

10 ตุลาคม 2567

เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2567 09:26:24 น. (view: 12148)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง