News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
สภาลมหายใจเชียงใหม่ แถลงไม่เห็นด้วยกับนายอนุทินในการแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าเชียงใหม่ ชี้ไม่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ที่ยังจำเป็นต้องใช้ไฟ
สภาลมหายใจเชียงใหม่ แถลงไม่เห็นด้วยกับนายอนุทินในการแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าเชียงใหม่ ชี้ไม่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ที่ยังจำเป็นต้องใช้ไฟ
วันที่ 24 ก.พ. 2568 - ที่ ร้าน Beanbag coffee ถ.เลียบคลองชลประทาน ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย ได้แก่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ ร่วมกันพุดคุยและแถลงข่าวนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ต้องฟังเสียงคนท้องถิ่น นำโดยนายชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ นางสาววิไลลักษ์ เยอเบาะ และตัวแทนคนอยู่กับป่า นายเดโช ไชยทัพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยระบุว่า จากกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ได้แถลงภายหลังการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช) เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมาว่า ทุกหน่วยงานต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยใน 3 เดือนนี้ ต้องไม่มีการเผาป่า เผาในที่โล่งแจ้ง เผาซากผลผลิตทางการเกษตร พร้อมประกาศ "มือเผา" ห้ามเผา ทุกกรณีไม่มีข้อยกเว้น โดยกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ให้เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในการปัญหาเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาแบบ single command ในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะ 17 จังหวัดภาคเหนือได้ประกาศห้ามเผา หากพบการฝ่าฝืนจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
สภาลมหายใจเชียงใหม่เห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ที่มีระบบนิเวศน์ป่าหลายประเภท ทั้งป่าผลัดใบ ป้าไม่ผลัดใบ และมีการเกษตร เช่น ไร่หมุนเวียนที่ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ใช้แบบควบคุมร่วมกัน ซึ่งเซียงใหม่ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น Fire D รองรับเพื่อให้การใช้ไฟจำเป็นส่งผลกระทบน้อยที่สุด เป็นระบบที่ยึดหยุ่นคำนึงถึงการบริหารหลายมิติที่ซับซ้อน และยังขัดแย้งกับการดำเนินการของจังหวัดเชียงใหม่ที่มุ่งเน้นให้มีแผนและปฏิบัติการบริหารจัดการไฟเชิงพื้นที่ ผ่านการแลกเปลี่ยนพูดคุยและหาทางออกต่อปัญหาหมอกควันมาเป็นระยะเวลายาวนาน 5 ปี มีความตั้งใจในการบูรุณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชนเพื่อนำไปสู่การควบคุมการใช้ใฟอย่างมีทิศทางในระบบ "Fire D"
ทั้งนี้สภาลมหายใจเชียงใหม่เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าที่คนเชียงใหม่กำลังเผชิญอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน จนส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ การดำเนินชีวิตทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร คนที่อยู่ในเมือง ผู้ประกอบการ เพื่อหาทางออกต่อปัญหาที่สะสมเรื่องนี้ และอยากเห็นการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ข้อมูล ความรู้ในการหาทางออกจากวังวนปัญหาอย่างจริงจัง
เพื่อให้เกิดการดำเนินงานแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควันของจังหวัดเชียงใหม่ ที่บูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน โดยดำเนินการภายใต้ทิศทางและมาตรการบริหารจัดการไฟ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา เชิงรุก มีการยอมรับเรื่องการใช้ "ไฟจำเป็น" และควบคุมคุมการเผา โดยให้ชุมชน หน่วยงานป่าไม้ และท้องถิ่นสามารถขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิง ในกรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยผ่านระบบ Fire-D ได้
เพียงแต่วิธีการของ บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้ง 76 จังหวัด ยังขาดบริบทของความแตกต่างหลากหลายของพื้นที่ และขาดข้อมูลความเป็นมาของท้องถิ่น
การดำเนินการแบบมีส่วนร่วมของจังหวัดเชียงใหม่ในอย่างน้อย 3 ปีที่ผ่านมากำลังเดินมาถูกทางเรื่องการแยกแยะและบริหาร เป็นมาตรการเชิงรุก เกิดผลลัพธ์ที่ตั้งเรื่องพื้นที่เผาไหม้ปี 2567ที่อยู่ในลำดับที่ 5 จาก9จังหวัดเมื่อเทียบกับสัดส่วนของพื้นที่ทั้งหวัด และค่าความเข้มขันสูงสุดของPM2.5 ลดลงจากปี 2566 ในวันที่ 30 มีนาคม 365 ไมโครกรัม ปี 2567 วันที่ 6 เมษายน 224.3 ไมโครกรัม จำนวนวันค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐาน 37.5 ลดจากปี 2566คือ 114 วัน เหลือ 87 วันในปี 2567 อีกทั้งปัจจุบันได้มีการดำเนินการเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควันในระยะยาว 5 ปีร่วมกันของทุกภาคส่วน
ดังนั้นสภาลมหายใจเชียงใหม่ และเครือข่ายอันได้แก่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า(สชป.) มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ จึงเห็นว่าเพื่อทำให้การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่ สามารถปฏิบัติการได้จริง จำเป็นต้องฟังเสียงสะท้อนของคนในท้องถิ่น ทั้งนี้โดยคำนึงถึงผลกระทบสุขภาพสิ่งแวดล้อม และการดำเนินวิถีชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ โดยมีข้อเสนอดังนี้
1.นโยบายการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่สั่งการโดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กระทรวงมหาดไทย ไม่ควรจะเป็นแบบเดียวทั้ง 77 จังหวัด ควรจะคำนึงความแตกต่างหลากหลายของพื้นที่ และมีการปรับให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการในแต่ละจังหวัด โดยในจังหวัดเชียงใหม่ควรยึดตามแนวทางการบริหารจัดการไฟ(Fire Management)โดยมีแผน-ปฏิบัติการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ร่วมกันของท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานป้าไม้ แยกแยะไฟจำเป็นอย่างยิงที่ต้องมีการบริหารจัดการ และเขตควบคุมการเผาของจังหวัดเชียงใหม่ตามประกาศจังหวัด ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567
2.ขอให้มีการทบทวนข้อสั่งการของ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติเพื่อให้ให้ไม่ให้ผู้ปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องทั้งชุมชน เจ้าหน้าที่ป่าไม้เกิดความสับสน และสามารถรับมือกับไฟป่า หมอกควันที่กำลังมาถึง
3.ในการดำเนินนโยบายใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันเชียงใหม่ควรรับฟังเสียงของท้องถิ่น และผู้ที่ได้รับผลกระทบของพื้นที่เป็นตัวตั้ง
ทั้งนี้หากทางรัฐบาลยังไม่ได้มีการทบทวนนโยบายดังกล่าว ทางสภาลมหายใจกังวลว่าจะเกิดไฟมากขึ้นกว่าเดิม และจะมีการประชุมเพื่อกำหนดท่าทีต่อการเข้าร่วมนโยบายกับทางจังหวัดและรัฐบาลต่อไป
เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2568 16:19:59 น. (view: 12148)