News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

แพทย์มช. เตือน น้ำใสไหลเย็น อาจเป็นพิษ ปนเปื้อนโลหะหนัก ภัยเงียบส่งผลเสียต่อร่างกาย ย้ำ! ไม่ตื่นตระหนก แต่อย่าประมาท!

แพทย์มช. เตือน น้ำใสไหลเย็น อาจเป็นพิษ ปนเปื้อนโลหะหนัก ภัยเงียบส่งผลเสียต่อร่างกาย ย้ำ! ไม่ตื่นตระหนก แต่อย่าประมาท!



     ผศ. นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่าใครจะคิดว่า “น้ำใสไหลเย็น” จากแม่น้ำที่เราคุ้นเคย อาจกำลังแฝงสารพิษที่ส่งผลต่อร่างกายเราทุกวันแบบช้า ๆ และเงียบงัน การปนเปื้อนของโลหะหนัก จากการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษ อย่างตะกั่ว (Pb) และ สารหนู (As) รวมถึงแบคทีเรียและสารอินทรีย์อื่น ๆ ในน้ำอาจมีค่า “เกินค่ามาตรฐาน” และอาจสะสมในร่างกายจนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพระยะยาว โลหะหนักที่พบได้ในน้ำธรรมชาตินั้น มีเกณฑ์ในการวัดอยู่ เมื่อเกินเกณฑ์ นั่นคืออันตราย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งการวัดค่าสาร ตะกั่ว (Lead, Pb) ค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 0.05 มก./ลิตร) และค่าสารหนู (Arsenic, As) ค่ามาตรฐานที่ไม่ควรเกิน 0.01 มก./ลิตร  



     ซึ่งโลหะหนักที่เกินมาตรฐานทั้ง 2 ตัว ส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าที่คิด โดยสารตะกั่ว เราอาจคุ้นชินพราะว่า มันคือสารที่ทำแบตเตอรี่รถยนต์ สีทาบ้าน ลูกกระสุนปืน ตะกั่วที่ปนเปื้อนในแม่นั้น เกิดจากการทำเหมืองแร่หรือโรงงานบางแห่งที่ปล่อยสารนี้ออกมา สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการดื่มน้ำที่ปนเปื้อน และเข้าทางผิวหนังจากการแช่น้ำที่ปนเปื้อนเป็นเวลานาน เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วสารตะกั่วจะไปจับกับโปรตีนและเอนไซม์ในร่างกาย ทำให้การทำงานของระบบประสาท ระบบเลือด และไต “ผิดปกติ” และสะสมในกระดูก ฟัน รวมถึงเนื้อเยื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็กจะมีความไวต่อพิษมากกว่า และเด็กเล็กจะทำให้เกิดการพัฒนาการช้า



     ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคและ WHO ชี้ว่า ตะกั่วส่งผลต่อพัฒนาการสมองของเด็ก แม้ในปริมาณเล็กน้อย แต่เมื่อได้รับในปริมาณสูงหรือสะสมต่อเนื่อง จะทำให้ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อ่อนเพลียเรื้อรัง , สมองทำงานช้าลง ความจำสั้น , กล้ามเนื้ออ่อนแรง มือเท้าชา , ภาวะซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก (โลหิตจาง) , ทำให้เกิด ภาวะไตวายเรื้อรัง และในเด็กจะทำให้พัฒนาการล่าช้า สมาธิสั้น เรียนรู้ช้า หากได้รับในปริมาณมากอย่างเฉียบพลัน อาจเกิดอาการชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้



     ส่วนสารหนู หรือ arsenic นั้น ในอดีตเรียกว่า สารหนู เพราะนิยมนำมาเบื่อหนู จะเห็นว่ามันเป็นพิษที่ใช้ฆ่าสิ่งมีชีวิตได้  สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการดื่มและสัมผัสน้ำที่ปนเปื้อนได้ โดยเมื่อเข้าร่างกาย สารหนูจะรบกวนการทำงานของเซลล์โดยตรง ทำให้เกิดความผิดปกติในการแบ่งเซลล์และการทำงานของเอนไซม์ ส่งผลต่ออวัยวะหลายระบบ ทำให้เซลล์ทำงานอ่อนแอลง เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ผิดปกติ และก่อให้เกิดมะเร็งได้ เมื่อได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากเกินไปหรือสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน จะส่งผลให้มีอาการดังนี้

   * อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร

   * ผิวหนังหนา หยาบกร้าน หรือมีจุดดำคล้ายกระ

   * ปลายมือปลายเท้าชา (neuropathy)

   * เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

   * สะสมในไต ตับ และหัวใจ เกิดความผิดปกติระยะยาว

   * หากได้รับมากแบบเฉียบพลัน อาจมีอาการท้องเสียรุนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิตได้



     หลักฐานจากงานวิจัยในพื้นที่เอเชียใต้ พบว่า การบริโภคน้ำที่มีสารหนูสูง เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งถึง 2–3 เท่าเนื่องจากร่างกายของเราไม่สามารถขับโลหะหนักเหล่านี้ออกได้หมด หากได้รับซ้ำ ๆ ทุกวัน แม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถสะสมในร่างกายจนกลายเป็นภัยเงียบที่แสดงอาการในอีกหลายเดือนหรือหลายปีถัดมา



    ผศ. นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เน้นย้ำว่า ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป แต่ก็อย่าประมาท ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแม่น้ำโดยตรง โดยเฉพาะจุดที่มีรายงานการปนเปื้อน , ใช้น้ำที่ผ่านการกรองคุณภาพสูง หรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่ได้มาตรฐาน , และหากมีอาการผิดปกติ เช่น อ่อนเพลียเรื้อรัง มือเท้าชา นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ควรพบแพทย์ และแจ้งว่ามีประวัติสัมผัสสารพิษจากน้ำ



     ทั้งนี้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อมีประวัติสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนโลหะหนัก คือล้างตัวทันที ใช้น้ำสะอาดและสบู่อ่อน ๆ ล้างให้ทั่วร่างกาย หากน้ำเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาด 10–15 นาท , เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที อย่าใช้ซ้ำ ควรนำไปซักด้วยน้ำสะอาดและผงซักฟอก และควรล้างมือก่อนทุกครั้งก่อนสัมผัสตา ปาก จมูก หรือบริเวณใบหน้า และควรติดตามข่าวจากหน่วยงานรัฐหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับข้อมูลและแนวทางป้องกันที่ถูกต้อง

 

เรียบเรียง : นางสาวสมัชญา หน่อหล้า

ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



ติดตามผ่านทาง Facebook : https://cmu.to/GGIrD



#โลหะหนัก #สารหนูปนเปื้อนในน้ำ #เชียงใหม่ #MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช #หมอสวนดอก #โรงพยาบาลสวนดอก #โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ #MedCMUในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedCMU

เขียนเมื่อ 09 เมษายน 2568 13:32:43 น. (view: 12159)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง